ประเด็นร้อน

จับตา 'คกก.ปราบโกง' ชุดใหม่ 'ต่อตระกูล-บิ๊กป้อม' ใครหลุด

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 14,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยโพสต์ - -

 

เคยเป็นประเด็นใหญ่มาแล้วครั้งหนึ่ง สำหรับคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ที่มี "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ในช่วงเกิดกรณีนาฬิกาหรูของ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม

 

เนื่องจาก "ต่อตระกูล ยมนาค" 1 ในกรรมการ คตช. ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง "บิ๊กตู่" แสดงถึงความกังวลต่อเรื่องดังกล่าว และเรียกร้องให้พิจารณาปลด "บิ๊กป้อม" ออกจากกรรมการ คตช. เพราะต้องการให้เป็นแบบอย่างในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่ "บิ๊กตู่" กลับไม่นำพา

 

ก่อนที่เดือนเมษายนที่ผ่านมา นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) และ 1 ในอนุกรรมการ ภายใต้ "คตช." ออกมาตอกลิ่มอีกคำรบว่า รัฐบาลยังเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้อยู่หรือไม่ เพราะช่วงแรกมีการประชุมกันแทบจะทุกเดือน แต่ปัจจุบันไม่มีการประชุมมานานแล้วร่วม 8 เดือน

 

กระทั่งมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2561 เรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของ "คตช." เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ "คตช." เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 1 ปี

 

ย้อนกลับไปการประชุมครั้งสุดท้ายของ "คตช." เกิดขึ้นปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560 มี "บิ๊กตู่" นั่งหัวโต๊ะ โดยเป็นการประชุมเพื่อรับทราบข้อเสนอของอนุกรรมการชุดต่างๆ จากนั้นก็ไม่มีการประชุมอีกเลย

 

รัฐบาล โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย เคยออกมาเคลียร์ประเด็นดังกล่าวว่า หลายคนเกษียณอายุราชการ ลาออก ทำให้ร้างลาการประชุม แต่ไม่ได้เพิกเฉยต่อการดำเนินการปราบปรามการทุจริต เพราะมีศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ซึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัติขับเคลื่อนอยู่

 

แต่กระนั้น เครื่องหมายคำถามเกี่ยวกับความจริงจังในเรื่อง "รัฐบาลปราบโกง" ยังคงอยู่ เพราะแต่เดิมมีการพักงานข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ผู้บริหารท้องถิ่นต่อเนื่อง มีการคลอดมาตรการป้องกันและปราบปรามออกมามากมาย แต่ที่ผ่านมากลับนิ่งลงไปมาก ในขณะที่รัฐบาลเองมีเรื่องราวเหล่านี้เข้ามาพัวพันกับบุคคลที่เกี่ยวข้องมากขึ้นเรื่อยๆ

 

คำสั่ง คสช.ฉบับล่าสุด จึงน่าจะตั้งขึ้นมาเพื่อขันนอตกันอีกครั้งเพื่อลดกระแสดังกล่าวลง อีกทั้งยังถือโอกาสปรับเปลี่ยนหลายตำแหน่งที่ว่างลงไป

 

โดยเฉพาะตำแหน่งกรรมการ คตช. ในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ได้มาโดยตำแหน่ง แต่จะมาจากการแต่งตั้งของ "บิ๊กตู่" จำนวนไม่เกิน 9 คน ที่จะออกมาหลังจากมีคำสั่งฉบับนี้ ต้องจับตาเป็นพิเศษว่า นายต่อตระกูลจะยังคงอยู่หรือไม่

 

หรือจะเป็น "บิ๊กป้อม" คนที่นายต่อตระกูลเรียกร้องให้ "บิ๊กตู่" เอาออกไปก่อนจนกว่าคดีจะได้สรุป จะยังเป็นกรรมการ คตช.อยู่หรือไม่ เพราะในคำสั่ง คสช.ที่ 2/2561 ไม่ได้ระบุว่า รายชื่อบุคคลหรือตำแหน่ง

 

เพียงกำหนดโครงสร้างใหม่ ประกอบด้วย 1.หัวหน้า คสช. เป็นประธาน 2.รองนายก รัฐมนตรีที่นายกฯ มอบหมาย เป็นรองประธาน 3.หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม    เป็นกรรมการ 4.ผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช.ที่หัว           หน้า คสช.มอบหมาย จำนวนไม่เกินสามคน เป็น   กรรมการ 5.ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งหัวหน้า คสช.แต่งตั้ง   จำนวนไม่เกิน 9 คน เป็นกรรมการ 6.เลขาธิการ    ป.ป.ท. เป็นเลขานุการ 7.ผู้แทนสำนักงานเลขาธิ การ คสช. เป็นผู้ช่วยเลขานุการ และ 8.ผู้แทน หน่วยงานภาครัฐที่ ครม.มอบหมาย เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

 

ไม่เหมือนโครงสร้างเดิมที่ "บิ๊กป้อม" นั่งเป็นที่ปรึกษาประธานกรรมการ ที่ตอนนี้ไม่มีตำแหน่งดังกล่าวแล้ว จึงต้องจับตาดูว่า ระหว่าง "ต่อตระกูล" หรือ "บิ๊กป้อม" ใครจะอยู่หรือไป!.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw